เสวยราชย์ ของ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2

ราชาภิเษก

สูรยวรรมันขึ้นครองราชบัลลังก์จักรวรรดิเขมรสืบต่อจากธรณีนทรวรรมันที่ 1 ใน ค.ศ. 1113[5]:159 พราหมณ์ผู้เฒ่านามว่า ทิวการบัณฑิต (Divakarapandita) เป็นประธานในการราชาภิเษก นับเป็นครั้งที่สามในประวัติศาสตร์เขมรที่นักบวชเป็นประธานพิธีนี้[6]

จารึกหลายหลักว่า ในการราชาภิเษก สูรยวรรมันจัดมหรสพ และพระราชทานทรัพย์นานัปการแก่ทิวการบัณฑิต เช่น เสลี่ยง พัชนี ศิราภรณ์ ธำมรงค์ และคนโท เสร็จพิธีแล้ว พราหมณ์เฒ่าผู้นี้เดินทางต่อไปยังศาสนสถานต่าง ๆ ในแว่นแคว้นของพระองค์ รวมถึงปราสาทพระวิหาร (ប្រាសាទព្រះវិហារ บฺราสาทพฺระวิหาร) บนเทือกเขาพนมดงรัก (ជួរភ្នំដងរែក ชัวรภฺนํฎงแรก) ที่ซึ่งเขาได้รับปฏิมากรรมทองคำรูปศิวนาฏราช[6]

ใน ค.ศ. 1119 สูรยวรรมันจัดราชาภิเษกอีกครั้ง เชิญทิวการบัณฑิตเป็นประธานในพิธีเช่นเดิม[6]

สงคราม

ตลอดรัชกาล สูรยวรรมันทรงรวบรวมจักรวรรดิที่แตกแยกเข้าเป็นหนึ่งอีกครั้ง เมืองขึ้นทั้งปวงส่งบรรณาการถวาย พระองค์ยังเปิดศึกกับชนชาติจามทางด้านตะวันออก แต่โดยมากแล้วทรงพ่ายแพ้[3]:113–114

จารึกของชาวจามและบันทึกของเวียดนามว่า สูรยวรรมันทำสงครามใหญ่กับรัฐของชาวเวียดนามที่เรียก ด่ายเวียต (Đại Việt) ถึงสามครั้ง แต่ไม่ชนะสักครั้ง บางครั้ง ทรงได้รับความสงเคราะห์จากชาวจาม สงครามครั้งแรกเกิดใน ค.ศ. 1128 สูรยวรรมันนำทหาร 20,000 นายบุกไปด่ายเวียต แต่แพ้ยับเยินจนต้องถอยกลับ ปีต่อมา ทรงส่งกองเรือกว่า 700 ลำไปตีชายฝั่งด่ายเวียต ครั้น ค.ศ. 1132 กองผสมเขมรจามบุกด่ายเวียตอีกครั้ง สงครามครั้งสุดท้ายมีใน ค.ศ. 1138 เขมรพ่ายแพ้ดังเคย ภายหลัง อินทรวรรมันที่ 3 (ឥន្ទ្រវរ្ម័នទី៣ อินฺทฺรวรฺมันที ๓) พระมหากษัตริย์จาม ทรงเป็นไมตรีกับด่ายเวียต จามจึงเลิกสนับสนุนเขมร ฉะนั้น ใน ค.ศ. 1145 สูรยวรรมันจึงหันไปตีจามแทน จามแพ้ เขมรปล้นเอาราชธานี คือ เมืองวิชัย ได้[7]:75–76 สูรยวรรมันตั้งน้องเขย คือ หริเทวะ (Harideva) ให้เป็นพระมหากษัตริย์จามพระองค์ใหม่ แต่ต่อมา ชาวจามยึดเมืองวิชัยคืนได้ แล้วประหารหริเทวะเสีย[8] การสงครามระหว่างชนชาติเหล่านี้มีขึ้นครั้งสุดท้ายใน ค.ศ. 1150 ผลลัพธ์ คือ เขมรพ่ายหนีกลับบ้านเมือง[5]:159–160

การทูต

เมื่อเข้าสู่พระราชสมบัติแล้ว สูรยวรรมันส่งเพชรนิลจินดาไปถวายกุโลตตุงคะที่ 1 (Kulothunga I) พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์โจฬะทางอินเดียใต้ ใน ค.ศ. 1114[9]

สูรยวรรมันยังสานไมตรีกับประเทศจีน โดยสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการขึ้นใน ค.ศ. 1116 จดหมายเหตุจีนในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ว่า ปีนั้น เขมรส่งทูต 14 คนไปจีน ทูตเหล่านี้พอไปถึงราชสำนักแล้วได้รับชุดขุนนางพิเศษ คณะทูตกลับคืนเขมรในปีถัดมา ครั้น ค.ศ. 1120 เขมรส่งทูตไปจีนอีกครั้ง และใน ค.ศ. 1128 ราชสำนักจีนมอบบรรดาศักดิ์สูงส่งแก่สูรยวรรมัน โดยถือว่า เป็นเจ้าเมืองขึ้นอันยิ่งใหญ่ของจีน ครั้งนี้ยังได้เจรจาปัญหาทางการค้ากันจนลุล่วง[5]:159,162[10]

สถาปัตยกรรม

รูปสลักสูรยวรรมันที่นครวัด

รัชกาลสูรยวรรมันบังเกิดความก้าวหน้าทางศิลปะและสถาปัตยกรรมอย่างยิ่ง สูรยวรรมันทรงถือไวษณพนิกาย (ถือพระวิษณุเป็นใหญ่) ต่างจากพระมหากษัตริย์เขมรพระองค์อื่น ๆ ที่ถือไศวนิกาย (ถือพระศิวะเป็นใหญ่) พระองค์จึงสร้างนครวัดถวายพระวิษณุ[11]:372,378–379 แต่นครวัดมาสำเร็จเอาเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว

สูรยวรรมันเป็นพระมหากษัตริย์เขมรพระองค์แรกที่ปรากฏโฉมในงานศิลปะ เช่น ที่นครวัดมีรูปสลักนูนต่ำของพระองค์ประทับนั่งบนราชอาสน์ สวมเครื่องทรงต่าง ๆ เช่น ศิราภรณ์ ต่างหู กำไลแขน กำไลเท้า สังวาลย์ ฯลฯ หัตถ์ขวาถือซากงู รายล้อมด้วยบริพารถือพัชนี แส้ และฉัตร ทั้งมีพราหมณ์ที่ดูเหมือนกำลังเตรียมพิธีอยู่ใกล้ ๆ และเหมือนกำลังประทับอยู่กลางป่า

พระองค์ยังสร้างเทวสถานอื่น ๆ เช่น ปราสาทบันทายสำเหร่ (ប្រាសាទបន្ទាយសំរែ บฺราสาทบนฺทายสํแร), ปราสาทธรรมนันท์ (ប្រាសាទធម្មនន្ទ บฺราสาทธมฺมนนฺท), ปราสาทเจ้าสายเทวดา (ប្រាសាទចៅសាយទេវតា บฺราสาทเจาสายเทวตา), และปราสาทบึงมาลา (ប្រាសាទបឹងមាលា บฺราสาทบึงมาลา)

ใกล้เคียง